การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

ฟังอย่างจริงใจ ชมอย่างซื่อตรง เมื่อเด็กทำสำเร็จ

“วันนี้ตอนเช้าไม่ร้องไห้”
“ใส่รองเท้าเองได้แล้ว”
“เมื่อกี๊ปิดกล่องข้าวเอง”
“โหนบาร์ได้ ๓ ขั้นแล้ว”
“ฟันน้ำนมหลุดอีกซี่แล้ว”

เด็กวัยอนุบาลชอบที่จะบอกเล่าเรื่องราวการเติบโต ความสำเร็จ หรือสิ่งที่เขาทำได้ให้คนรอบตัวฟัง โดยเฉพาะคนที่เชื่อมโยงกับตัวเขา เป็นคนที่เขาไว้ใจ และสบายใจที่จะแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตให้ฟัง ยิ่งเป็นคนที่มีความหมายกับตัวเขาอย่างพ่อแม่และคุณครู ยิ่งอยากให้รับรู้ในทุกๆ เรื่อง ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยอนุบาลที่ต้องการการยอมรับและอยากเป็นที่รัก คุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่อยู่ใกล้ชิดจึงมักจะได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ของเด็กๆ อยู่บ่อยครั้ง

เมื่อเทียบกับประสบการณ์ของผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตมามากกว่า หลายๆ เรื่องที่เด็กๆ พูดบอกอย่างตื่นเต้นอาจดูเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่สำหรับเด็กอนุบาลที่ยังมีประสบการณ์ในชีวิตไม่มาก นี้คือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ เป็นการค้นพบว่าตัวเขานั้นสามารถทำอะไรๆ ได้มากกว่าที่เคยทำได้ เขาเติบโตขึ้นแล้วนะ และอยากให้มีคนรับรู้แล้วร่วมยินดีไปกับเขาด้วย

การพูดคุยกันเป็นช่วงเวลาสร้างความสัมพันธ์ที่ผู้ใหญ่และเด็กจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของกันและกัน เมื่อเด็กๆ มาบอกเล่าเรื่องราวการเติบโตหรือความสำเร็จของเขา ผู้ใหญ่ควรรับฟังอย่างจริงใจ ไม่ขัดจังหวะการพูด ให้เวลาเด็กๆ ได้ใช้ภาษา ท่าทาง ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จและพัฒนาการของตัวเขาเอง พิจารณาหาเหตุที่มา แล้วใช้คำชมเสริมแรงไปที่พฤติกรรมของเด็กอย่างตรงไปตรงมาด้วยท่าทีที่จริงใจ โดยระบุสิ่งที่เด็กทำได้ ให้ความหมายในสิ่งที่เด็กทำ และบอกความรู้สึกของพ่อแม่หรือครู เช่น

นักเรียน: วันนี้ตอนเช้าไม่ร้องไห้
ครู: ดีจังเลยที่หนูไม่ร้องไห้ ครูชอบรอยยิ้มของหนูและเป็นกำลังใจให้หนูนะ

นักเรียน: หนูโหนบาร์ได้ ๓ ขั้นแล้ว
ครู: ดีใจด้วยนะ หนูแข็งแรงขึ้นและมีความพยายามดีจัง

การรับฟังอย่างจริงใจ ชื่นชมไปที่พฤติกรรมและให้ความหมายในสิ่งที่เด็กทำอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยเสริมแรงสร้างพฤติกรรมเชิงบวก เด็กๆ จะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับการยอมรับตรงตามที่เขาเป็น รับรู้ความหมายว่าเขาทำสิ่งนี้ได้เพราะเขาพยายาม เพราะเขาอดทน เพราะเขาไม่ยอมล้มเลิกง่ายๆ ซึ่งเป็นคุณค่าที่เราอยากปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก เป็นการสร้างกรอบแห่งจิตที่เติบโตได้ หรือ Growth Mindset ให้เด็กกล้าเรียนรู้ สู้สิ่งยาก เพราะเห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวเอง