กิจกรรมเจริญจิตภาวนา,  ชุมชนกัลยาณมิตร,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

งานยุ่งทั้งวันจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร?

วันนี้ (๒๔ ส.ค.๕๘) อาจารย์ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง สละเวลามาบรรยายธรรมในหัวข้อ “การปฏิบัติธรรมในชีวิตจำวัน” ให้กับครูอนุบาลและพนักงาน โรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อชวนพวกเรามาเรียนรู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า สร้างความรู้ความเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องปฏิบัติธรรม แล้วในชีวิตประจำวันที่มีการงานมากมายนั้น เราจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร

นำสาระบางส่วนบางตอนในวันนั้นมาแบ่งปันค่ะ

หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ๓ ประการ
๑.ละอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ คือการละชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) วาจา (การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ) ใจ (การอยากได้ของผู้อื่น การมีจิตคิดร้าย การมีความเห็นผิด)
๒.ทำกุศลให้ถึงพร้อม คือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
๓.ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ด้วยการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา

เพียงรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก ท่านปฏิบัติธรรมแล้ว เพราะเราหายใจตลอดเวลา ตราบใดที่ท่านมีลมหายใจ อย่าบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้า มี ๓ ประการ
๑.ถูกจริต ถูกอัธยาศัย ถนัด ถ้าเรารู้ว่าเรารู้กายรู้ใจได้ชัดด้วยวิธีใด ให้ปฏิบัติวิธีนั้น
๒.ถูกทาง คือศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า
๓.ประจำสม่ำเสมอ เป็นข้อสำคัญที่ไม่มีใครช่วยหรือแนะได้ อยู่ที่ตัวเราเอง

ธรรมะ ๒ ประการที่เราต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่ การเจริญสมถะภาวนา และการเจริญวิปัสสนาภาวนา ซึ่งคำว่าเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งหมายความว่า รู้ว่าจะเจริญทำไม รู้ว่าจะเจริญเพื่ออะไร และรู้ว่าจะเจริญอย่างไร

  • การเจริญสมถะภาวนา และการเจริญวิปัสสนาภาวนา เป็นธรรมะเกื้อกูลกัน
  • การเจริญสมถะภาวนา…ทำให้จิตสงบ
  • การเจริญวิปัสสนา…ทำให้พ้นทุกข์
  • การเจริญสมถะภาวนา…เป็นการรู้บัญญัติธรรม จะเป็นภาษา เป็นบุคคลตัวตนเราเขา นึกคิดได้
  • การเจริญวิปัสสนา… เป็นการรู้ปรมัตถธรรม สภาวธรรม สภาพธรรม ที่ปรากฏที่กายและใจ นึกคิดไม่ได้ ต้องรู้สึก
  • การเจริญวิปัสสนา…ต้องมีสติ รู้กาย รู้ใจ รู้ด้วยความรู้สึกตัว มีสติสัมปชัญญะ รู้ที่ปัจจุบัน รู้แล้วอย่าหลง รู้แล้วอย่าชัง ให้กำจัดอภิชฌาและโทมนัส อย่าหลงยินดี อย่าหลงยินร้าย เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามกฎของไตรลักษณ์

ขณะปฏิบัติธรรมจะมีอาจารย์ ๒ ท่านมาสอน นั่นคือ ความสงบ และความฟุ้งซ่าน การปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความสงบไม่ใช่ปัญหา การปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความฟุ้งซ่านไม่ใช่ แต่จะมีปัญหาเมื่อใจรักความสงบ ชังความฟุ้งซ่าน ถ้าเรารักความสงบ หลงรักความดี เราจะทุกข์แบบคนดี แต่ถ้าไม่หลงรักใครเลย เราจะไม่ทุกข์

โรงเรียนรุ่งอรุณขอขอบพระคุณอาจารย์ธีรยุทธเป็นอย่างสูง ที่สละเวลามาให้ความรู้และข้อคิดในครั้งนี้ เพื่อให้เราทุกคนได้กลับมาเรียนรู้กายใจของตนเองอยู่เสมอ