บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  ศิษย์เก่า,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

พี่สอนน้อง: จะสอนคนอื่นให้มีวินัย เราต้องมีวินัยก่อน

“พี่สอนน้อง” โครงการดีๆ ที่ชักชวนศิษย์เก่ารุ่งอรุณ RA15 ใช้เวลาว่างช่วงรอเปิดภาคเรียนในสถาบันอุดมศึกษา มาช่วยสอนช่วยติวน้องๆ มัธยมในวิชาไอทีและชีววิทยา น้องๆ ได้เรียนรู้จากพี่ที่พูดคุยภาษาเดียวกัน  ขณะที่พี่เองก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตนหลายด้านกับการเป็น “ครูของน้องๆ” ในครั้งนี้

พี่เปตอง-นายพัทธดนย์  เลิศปัญญาวิทย์ (RA15)
นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขามีเดียอาร์ต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
วิชาที่สอน: ไอที ม.ปลาย  Graphic Design

มาสอนได้อย่างไร?
“ช่วงปลายเทอม ๓ (ปีการศึกษา ๒๕๕๙) พอดีครูวิชาไอทีลาออก คุณครูไอทีเลยชวนผมให้มาช่วยสอนน้องๆ แล้วครูต้อยก็มาชวนให้มาสอนน้องๆ ในเทอมนี้ ผมเลยได้เอาความรู้ที่ตัวเองมีมาถ่ายทอดให้น้องๆ” 

สอนอะไร สอนอย่างไร?
“ผมมองว่าวิชาไอทีไม่ควรจะเป็นการเรียนเฉพาะโปรแกรมอย่างเดียว คนเราถ้าไม่ได้ฝึกเรื่องระบบความคิด ถึงมีฝีมือไปเราก็ไม่สามารถประยุกต์ทำงานได้ ผมจึงเพิ่มเนื้อหาด้านการออกแบบและศิลปะมาด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชั่น ภาพยนตร์ กาฟฟิกดีไซน์ พื้นฐานของมันคือศิลปะนั่นเอง อย่างชั้น  ม.๔ ผมเปิดโอกาสให้น้องเลือกลักษณะงานที่เขาสนใจใน ๓ กลุ่ม คือ กราฟฟิก แอนิเมชั่น และภาพยนตร์ แล้วสอนการคิดสร้างงานตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ แต่จะมีสอนพื้นฐานศิลปะบางเรื่อง เช่น ทฤษฎีสี  Composition ที่ทุกสายต้องเรียนพร้อมกัน แล้วก็จะมีเนื้อหาเจาะลึกในบางสาย เช่น storytelling กลุ่มกราฟฟิกก็ไม่จำเป็นต้องเรียน ก็ปล่อยทำงาน” 

“ผมบอกน้องก่อนตั้งแต่ต้นว่าน้องต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะผมไม่ใช่ครูประจำ สั่งงานแล้วน้องต้องรับผิดชอบทำให้เสร็จ ผมสังเกตว่าน้องบางคนมีความรู้เรื่องโปรแกรมอยู่แล้ว ผมก็แค่มาต่อยอด เพิ่มเทคนิคการใช้โปรแกรม แต่ไม่ได้เน้น ทุกวันนี้ความรู้มันมีอยู่ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต อยากรู้อะไรก็เสิร์ชยูทู้บได้ แต่ในคาบเรียนนี้ผมอยากให้น้องเรียนในสิ่งที่ยูทู้บบอกไม่ได้ อย่างการประยุกต์ การคิด การสร้างสรรค์ 

เป็นครูใหม่ เจอปัญหาอะไรไหม?
“การเป็นรุ่นพี่มาสอนน้อง มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราสนิทกันง่าย ข้อเสียคือน้องๆ ไม่ค่อยเคารพเราเท่าไร  ด้วยลักษณะการวางตัวของเราด้วย เราวางตัวเป็นรุ่นพี่มากกว่า ทำให้เขารู้สึกว่าสนิทกับเรา ทำให้ผมมีปัญหาในการจัดการห้องเรียน เพราะว่าเด็กค่อนข้างซนและดูแลยาก ก็รู้สึกว่าเวรกรรมบางอย่างที่เราได้ก่อไว้กลับมาหาเราเร็วเกินคาด รู้สึกว่ายังขาดประสบการณ์ คือบางทีเราเรียนด้วยตัวเองได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเรียนแบบเราได้ เราอาจจะคาดหวังในตัวของน้องมากเกินไปด้วย เราอาจจะยัดเยียดความรู้มากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งผมก็ต้องปรับตัว ต้องเข้าใจน้อง 

วางเป้าหมายการสอนไว้อย่างไร?
“น้องๆ สามารถนำเสนอความคิดหรือไอเดียของเขาออกมาเป็นผลงานในแต่ละสายที่เขาเลือกได้ แล้วจะมีน้องๆ ที่มาเรียนไอทีเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร ผมก็อยากเป็นแรงบันดาลใจให้น้องอยากเรียนไอที รู้ว่าเรียนไปทำไม เพราะการเรียนโปรแกรม เรียนใช้เครื่องมือ มันเป็นการจำ สำคัญที่สุดคือเราจะทำให้น้องเขาอยากทำได้หรือเปล่า”

ได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นครูในครั้งนี้?
“การมีวินัยในตัวเอง ถ้าไปถามครูสมัยผมเรียนก็จะรู้เลยว่า ผมเป็นคนที่การบ้านไม่ค่อยส่ง ไม่ค่อยมีวินัย แต่การที่เราจะไปสอนคนอื่นให้มีวินัย เราต้องมีวินัยในตัวเองก่อน ทุกครั้งที่ผมให้การบ้านน้องไป ผมจะทำการบ้านนั้นด้วยทุกครั้งแล้วเอามาให้น้องดู ให้น้องเขารู้ว่าผมเป็นครู ผมก็ทำ ผมบอกน้องเสมอว่า พื้นฐานศิลปะที่ดีคือการที่เราหมั่นฝึกฝนตัวเอง ผมก็ทำให้น้องเห็น