บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

ห้องเรียนพ่อแม่ #๒ การงานกับการเรียนรู้

ห้องเรียนพ่อแม่ “เลี้ยงลูกดีวิถีไทย” สำหรับผู้ปกครองชั้นอนุบาล ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมในหัวข้อ “การงานกับการเรียนรู้” ในครั้งนี้คุณครูโม-สุนิสา ชื่นเจริญสุข คุณครูใหญ่ฝ่ายอนุบาล และทีมครูอนุบาล ชวนคุณพ่อคุณแม่มาเรียนรู้ผ่านการลงมือทำงานจริง โดยการ “ขนทรายและเกลี่ยทราย” ในบริเวณลานทรายข้างศูนย์สุขภาพวิถีไทย ซึ่งเป็นพื้นที่เล่นสุดโปรดปรานของลูกๆ อนุบาล เพื่อให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Active learning) และสามารถย้อนทบทวนตนเอง ระบุความรู้สึกนึกคิดของตน ซึ่งเป็นสภาวะภายในที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน

เริ่มต้นความสนุกด้วยกิจกรรมยืดเส้นยืดสายจากทีมครูพละ-ครูต้น ครูเอก ครูเป๊ก ที่ชวนผู้ปกครองมาจับคู่คนข้างๆ แล้วช่วยกันยืดเหยียดร่างกายในท่าต่างๆ สร้างความไว้วางใจระหว่างกันด้วยท่าทิ้งตัว โดยแต่ละท่าก็ผลัดเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน ก่อนจะแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมต่อไป☘ เล่นก่อกองทรายเป็นกลุ่มโดยไม่พูดกัน
การทำงานร่วมกับเพื่อนใหม่ ภายใต้กติกา “ห้ามพูดกัน” เป็นกิจกรรมสนุกๆ ที่ต้องฝึกฝืนความเคยชิน แต่เมื่อการงานอยู่ตรงหน้า มีเวลาจำกัดเพียง ๑๕ นาที ทันทีที่สิ้นเสียงสัญญาณเริ่มกิจกรรม ผู้ปกครองแต่ละกลุ่มต่างไปหยิบอุปกรณ์มาตักทราย ขนทราย กันอย่างขันแข็ง สังเกตซึ่งกันและกัน สื่อสารกันผ่านสายตาและการลงมือทำ ค่อยๆ เท ค่อยๆ ก่อ บางคนไปเก็บใบไม้กิ่งไม้มาประดับตกแต่ง ทำไปสังเกตกันไป ช่วยกันคนละไม้คนละมือ จนผลงานค่อยๆ ปรากฏเป็นประติมากรรมทรายที่สวยงามและภาคภูมิใจ

☘ ผู้ปกครองสะท้อนการเรียนรู้
“พอครูบอกว่าไม่ให้พูด เรารู้สึก อ้าว แล้วยังไงเนี่ย แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าใครจะทำอะไร แล้วเรามาคิดได้ว่า บางทีเวลาที่เราพูด เราพ่นความคิดของตัวเองออกไป แต่ว่าไม่ได้ฟังคนอื่น คนอื่นพูดอะไรก็ไม่รู้แหละ แต่ว่าฉันอยากพูด แต่พอห้ามพูด มันก็เลยเหมือนต้องหยุด…แล้วพอเราไม่พูด เราก็ไม่ได้คิดเยอะด้วย ก็มองว่าเขาทำอะไร โอเค เขาน่าจะทำกำแพงนะ เราก็ช่วยกัน ทรายไม่พอก็ไปขนมา มันเหมือนได้หยุดคิดแล้วมองคนอื่น แล้วก็ช่วยกัน”

หลังจากพักเหนื่อยกันชั่วครู ก็ถึงเวลาของกิจกรรมต่อไป ช่วยกันขนทรายและเกลี่ยทรายไว้ให้ลูกเล่น

กิจกรรมใช้แรงที่เริ่มต้นด้วยความสนุก แต่ตามด้วยความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ท้อแท้ และหลากหลายอารมณ์ เพราะเป็นวิถีที่ไม่คุ้นเคย แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยเพียงไร ทุกคนก็ยังร่วมแรงร่วมใจกันทำงานต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ จนทรายกองโตในตอนแรกค่อยๆ ยุบลงไปกว่าครึ่ง ความหวังว่างานจะเสร็จใกล้เข้ามา แต่แล้วรถบรรทุกทรายก็ขับมาจอดเทียบ รอลงทรายเพิ่ม ทุกคนต่างหยุดชะงักและโห่ร้องขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ความหวังเมื่อครู่พังทลาย แต่ก็เพียงช่วงสั้นๆ จากนั้นก็ตามด้วยเสียงหัวเราะ เสียงพูดเล่นให้กำลังใจกันไปมาเป็นที่สนุกสนาน แล้วลงมือทำงานกันต่อจนเสร็จ เพราะทุกคนช่วยกัน ทำไปด้วยกัน และที่สำคัญทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “เพื่อลูก”

หลังจบกิจกรรมด้วยความเหน็ดเหนื่อย เสื้อเปียก เหงื่อชุ่ม คุณครูก็ชวนผู้ปกครองแต่ละกลุ่มมาล้อมวงสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีคุณครูประจำกลุ่มทำหน้าที่เป็น Facilitator เพื่อให้ผู้ปกครองสังเกตเห็นธรรมชาติของตนขณะทำงาน การพาตนเองก้าวพ้นข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนเข้าใจวิถีการเรียนรู้ที่รุ่งอรุณ และกระบวนการเรียนรู้สู่มิติเชิงคุณค่า จากการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับเพื่อนผู้ปกครองและสถานการณ์ต่างๆ

☘ ผู้ปกครองสะท้อนการเรียนรู้
“ขณะขนทราย มีรถมาลงทราย ทุกคนร้องลั่นเลย แต่ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาทำ ช่วยกัน คือไม่ต้องคุยว่าใครจะตัวเหม็น เหม็นเหมือนกันหมด แล้วพอเลิกปุ๊บ ผมกลับไปมอง ทรายมันเหลือนิดเดียว เหมือนกับที่ลงเป็นคันรถมันหายไปเลย ก็สอนให้รู้ว่า ไม่มีอะไรที่มันยิ่งใหญ่เกินหรอกถ้าทุกคนช่วยกัน”

“กิจกรรมวันนี้ตั้งแต่เริ่มทำประติมากรรมด้วยกัน มันก็ไม่ได้อยู่ในแบบแผน แล้วมันก็ไปของมันเรื่อย มันมีคำหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวผมว่า เฮ้ย มัน Free-form ไม่มีรูปแบบ ไม่มีอะไรที่มันตายตัว พอเราเริ่มขนทราย มันก็มีเสียงในหัวเราที่อยากทำอย่างโน้นอย่างนี้ ความคิดเยอะแยะไปหมดเลย ด้วยความที่เราอยากจะจัดการอะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายงานมันจะเดินได้ก็ต้องลงมือทำ ก็ต้องวางความคิด…คำว่า Free-form ในตอนแรกมันเปลี่ยนเป็น Free from คือเป็นอิสระจากอะไรบางอย่าง ซึ่งที่ผมพบก็คือ อิสระจากความคิด แล้วก็อัตตาของตัวเรานี่แหละ แค่ลงมือทำ”

“อย่างหนึ่งคือการคาดหวัง อย่างตอนแรกถ้าเราคาดหวังอะไรที่มันดีๆ Perfect มันจะรู้สึกกดดันมากเลยนะ ตอนเรารวมกลุ่มกัน เฮ้ย ทำยังไงดี เราคุยกันไม่ได้เลย แล้วจะออกมาเป็นยังไง แต่พอเราลดการคาดหวัง โอเค คนนี้เอานี่มา คนนั้นมาเติมนิดหนึ่ง ออกมาเป็นชิ้นงาน… อย่างตอนขนทรายก็เหมือนกัน บางทีเราคิดเราจะทำอะไรได้บ้าง หน้าที่ของเราจะทำอะไร แต่ไปๆ มาๆ เราก็ทำในสิ่งที่เราทำได้ ทำจนจบเวลา แล้วทุกคนก็ทำแต่ละหน้าที่ แต่มันก็จบมาด้วยงานที่สมบูรณ์ ถือว่าสมบูรณ์เพราะเราไม่ได้คาดหวัง ก็ลดความคาดหวังไป”

“ปกติอยู่บ้าน เราเป็นเถ้าแก่คน เราจะสั่งคนอย่างเดียว แต่วันนี้เราไม่ใช่แล้ว เราต้องลงมือทำ สุดท้ายผลงานมันก็เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีคนสั่งก็ได้ แต่ทุกคนร่วมทำในสิ่งเดียวกัน และคำถามตอนแรกที่คิดขึ้นมาในหัวคือ เราเหมือนมาทำให้โรงเรียน คุณครูอยากให้เราขนทรายมาให้หรือเปล่า แต่ทำไปสักระยะหนึ่งเรารู้แล้ว เราเห็นรอยยิ้ม เราเห็นเหงื่อ เราเห็นคุณครูมาทำ เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ทรายมันมีคุณค่ามากกว่านั้น กับการที่เราได้มา แล้วเราก็ปล่อยวางความเป็นเถ้าแก่ลงไป มาทำ มาจับเครื่องไม้เครื่องมือ รู้สึกดีครับ”

ขอบคุณผู้ปกครองและคุณครูทุกท่านที่มาเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ แล้วพบกันใหม่กับห้องเรียนพ่อแม่ครั้งต่อไปในหัวข้อ “วิถีการเรียนรู้ที่รุ่งอรุณ” ในวันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๑ (อย่าลืมแต่งกายให้เหมาะกับการเคลื่อนไหว)