บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

บทเรียนจากเวทีระพีเสวนา ครั้งที่ ๖ สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง

IMG_0188 สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  มูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก  มูลนิธิสยามกัมมาจล  ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  สสส.  และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จัดงานระพีเสวนา การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งที่ ๖ สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง( Media for Changes) ในวันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ อาคารสารนิเทศ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เพื่อแสดงมุทิตาจิตแด่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เนื่องในวาระที่ท่านมีอายุครบ ๙๐ ปี ซึ่งยังคงทำหน้าที่ ‘นักสื่อสารด้วยหัวใจ’ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและสนใจทำสื่อมีโอกาสเข้ามามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากตัวอย่างที่ดี (Good Practice) คือ กลุ่มคนทำสื่อสร้างสรรค์สังคม เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างของเขาเองต่อไป

“…ในวันนี้ขอได้โปรดอย่านึกถึงผม ขอให้นึกถึงแผ่นดินไทยก่อน แล้วจะเป็นสิริมงคลกับทุกคน ผม ๙๐ กว่าแล้วยังคิดทำอะไรต่ออะไรอยู่ตลอดบางคนถามว่าจะทำอย่างไร เราก็ทำไป ถ่ายทอดความรู้ไปด้วย ถึงเราจะไม่อยู่แล้วก็จะมีตัวตายตัวแทน ที่สำคัญไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ แต่คือการถ่ายทอดความรอบรู้  นั่นคือการมีศิลปะในการทำงาน คนที่มีศิลปะในจิตใจจะไม่ไปชนกับใคร ติดทางนี้ก็มาออกทางนั้น ติดทางนั้นก็มาออกทางนี้ เพราะว่าไม่มีใครอยากจะทำร้ายกัน แต่สภาพสังคมทุกวันนี้ที่ใช้แต่หัว มันบังคับให้คนก้าวร้าว แต่ถ้ามีศิลปะในจิตใจ ความก้าวร้าวมันก็จะลดลงไปเยอะการศึกษาเราไม่ได้มองตรงนี้เท่าไร อยากจะฝากตรงนี้ไว้ เปิดใจของเรากันดีกว่า คุยกันฉันมิตร แล้วสิ่งนี้จะนำไปสู่ความสร้างสรรค์” ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปราชญ์และครูของแผ่นดิน แสดงปาฐกถาเปิดงาน

เวทีเสวนา : พลังเยาวชนคนรุ่นใหม่กับการใช้สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง

IMG_0152 “แค่ใครสักคนลุกขึ้นมาสื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง นั่นก็ถือว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนที่นำเสนอหรือคนสื่อ ว่าได้ไตร่ตรองหรือนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงและรอบด้านแค่ไหน” นายต่วนซูไฮมีน  ต่วนปูเตะ นักศึกษาชั้นปีที่ ๕ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตัวแทนเยาวชน AYM (Asia Youth Media) ภาคใต้

“ปิ๊งคือเวทีของทุกคน และเป็นเวทีฝึกฝนของพวกเราทุกคนด้วย เราทำปิ๊งโดยเอาความสนใจและความสมัครใจเป็นฐาน เราจึงไม่เคยปฏิเสธใครที่อยากมาร่วมงานกับเรา แต่เปิดรับแล้วให้แต่ละคนได้ทำงานตามที่ถนัดหรือสนใจ อย่างบางคนชอบขายเราก็ให้เขาช่วยดูแลการขาย” นางสาวพลอย เลาหเสรีกุล นักเรียนชั้น ม.๕ โรงเรียนรุ่งอรุณ

“สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผมจากการทำปิ๊ง คือ การมองเห็นคนอื่นและเปิดรับคนอื่นมากขึ้น ไม่ใช่มองเห็นแต่ตัวเอง จากเดิมที่เรียนหนังสือเราจะมองเห็นแต่ตัวเอง แต่พอมาทำปิ๊ง เราได้เห็นว่าคนอื่นๆ ในชุมชนเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง” นายพรรษ วุฒิพงศ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนรุ่งอรุณ เยาวชนกลุ่มปิ๊งรุ่นที่ ๑

“การทำปิ๊งช่วยให้น้ำปายเติบโตขึ้น ไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะการทำงานและการเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทัศนคติและมุมมองต่อเรื่องต่างๆ เพราะปิ๊งแต่ละเล่มจะมีประเด็นเล่ม (Theme) ไม่เหมือนกัน บางเล่มก็เป็นเรื่องที่เราไม่ได้สนใจเลย ทำให้เราต้องพาตัวเองออกจากโลกแคบๆ ไปรู้จักโลกอื่นๆ แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าเรื่องเหล่านั้นก็มีคุณค่าที่เราไม่เคยรู้ แล้วพอเราได้ไปเห็นไปรู้จักเรื่องราวดีๆ ในโลกของคนอื่น ก็ทำให้เราได้ย้อนกลับมามองและทบทวนตัวเองด้วย” นางสาวน้ำปาย ชัยฤทธิ์ นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนรุ่งอรุณ

“สื่อเป็นเครื่องมือที่มีพลังอย่างมากในการทำงานของสถาปนิก เพราะงานสถาปัตยกรรมไม่ใช่งานของสถาปนิกเท่านั้น แต่เป็นงานของสังคม ของเมือง ที่ทุกคนต้องใช้ชีวิตและมีส่วนร่วม เราจึงพยายามพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมคุณค่าแท้ของงานสถาปัตยกรรม และสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม” คุณยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์

เวทีเสวนา : สื่อเปลี่ยนคนได้จริง?
IMG_0343

 “ถ้าเรามองสื่อเป็นเครื่องมือ เราที่เป็นคนทำสื่อต้องเปลี่ยนตัวเราก่อน  หันกลับมามองว่าเราเข้าถึงและเข้าใจเขา (คนรับสื่อ) แล้วหรือยัง เข้าใจปัญหา เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณของเขามากน้อยแค่ไหน สื่อที่เราทำนั้น เราทำด้วยความเข้าใจเขาอย่างถ่องแท้หรือเปล่า” อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.


“สื่อคือสิ่งที่มีผลต่อการรับรู้และการเรียนรู้ของคนเรา ทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ความเป็นจริงของโลก เข้าใจการอยู่ร่วมกัน เข้าใจบทบาทหน้าที่ที่มากกว่าการหาประโยชน์สุขให้กับตัวเอง แต่ว่าเข้าใจหน้าที่ที่เรามีต่อผู้อื่น ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา จำกัด

“การใช้สื่อเพื่อการต่อสู้หรือเรียกร้องในเรื่องใด เราควรนำสิ่งที่เรียกว่านิติธรรมเข้ามาบรรจุอยู่ในแนวคิด ในหลัก ในแก่น หรือในสาระด้วย” คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ

“บ้านเรามีคำว่าทางเลือกกับทางรอด แต่น่าแปลกใจว่าทำไมสื่อที่เป็นทางรอดของสังคมถึงต้องเป็นสื่อทางเลือก แล้วสื่อที่นำพาสังคมไปสู่ปัญหากลับกลายเป็นสื่อกระแสหลัก” ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาสังคม

“จากการศึกษาฟรีทีวีทุกช่อง เราพบทางสองแพร่ง คือ ฟรีทีวีมองคนดูเป็นพลเมือง (Citizen) หรือเป็นผู้บริโภค (Consumer) คำว่าพลเมืองในที่นี้หมายถึงคนที่ตระหนักรู้ในสิทธิหน้าที่ เชื่อมั่นและมีความเข้าใจว่าสังคมที่ดีต้องเป็นอย่างไร มองเห็นบทบาทของตัวเองว่าจะเข้าไปช่วยเสริมหรือสร้างสังคมที่ดีอย่างไร ผลการศึกษาชัดเจนว่าฟรีทีวีส่วนใหญ่มีเนื้อหาปลุกระดมให้คนดูเป็นนักบริโภค” ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

“ทุกวันนี้คนทำสื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ลบมาก ดังนั้นแม้ว่าสื่อจะเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องยากและท้าทายที่จะรักษาการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ จากประสบการณ์ของผมพบว่า การบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงของตัวเราออกไป จะทำให้การเปลี่ยนแปลงของเราทรงอยู่ ยิ่งเล่าก็ยิ่งทรง” อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ประธานองค์ความรู้คณะละครมรดกใหม่

เวทีเสวนา : นวัตกรรมสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง

 04

“การจะทำสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมนั้น ต้องเริ่มต้นจากความเชื่อของเราก่อน คนจะทำสื่อต้องมีความเชื่อลึกๆ ว่าสิ่งที่เราทำมันจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง และเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ความเชื่อมั่นแบบนี้จะเป็นแรงขับสำคัญในการทำงานสื่อ” คุณประสาน อิงคนันท์ ผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา จำกัด และพิธีกรรายการ ‘คนค้นฅน’

“ยุคนี้เป็นยุคที่ท้าทายสื่อมาก เพราะทุกเรื่องสามารถกลายเป็นอคติที่จะเอามาถกเถียงกัน แล้วเวลาท้วงกันเราไม่ได้ท้วงด้วยความปรารถนาดี แต่ท้วงกันแบบเอาเป็นเอาตาย พอเป็นแบบนี้สื่อยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นนอกจากจะไปเปลี่ยนแปลงข้างนอกแล้ว สื่อต้องกลับมาสำรวจตัวเองมากขึ้น ว่าเรามีคติหรือตั้งวิธีทำงานของเราไว้อย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนนำองค์กรสื่อ” คุณประสาน อิงคนันท์


“เราอาจเปลี่ยนไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราเปลี่ยนนิดหนึ่ง โลกก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่งเหมือนกัน ท่านติช นัท ฮันห์ บอกว่า ถ้าเรายิ้ม โลกก็ยิ้มมากขึ้นนิดหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราอยากเปลี่ยนโลก ให้เปลี่ยนตัวเองก่อนแล้วโลกจะเปลี่ยน” คุณโตมร ศุขปรีชา คอลัมนิสต์เชิงวิพากษ์สังคม


“ความสงสัยของคนเรามี ๒ อย่าง คือ สิ่งที่เป็นต้นทุนเดิมในตัวเรา และสิ่งที่เรารับเข้ามาใหม่ที่มาเติมต้นทุนเก่าของเรา คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสงสัยเรื่องต้นทุนเก่าของตัวเอง และมองไม่ค่อยเห็นต้นทุนใหม่ที่ขัดแย้งกับต้นทุนเก่า หรือถ้าเห็นก็อาจปฏิเสธหรือขัดเกลาจนมันไม่ขัดแย้งและเข้ากับต้นทุนเก่าของเราได้ แล้วเราก็มีชีวิตต่อไปโดยไม่ค่อยตั้งคำถามหรือสงสัยอะไร” คุณโตมร ศุขปรีชา


“เรามองไม่ค่อยเห็นความซับซ้อนของประเด็นต่างๆ พอเราไปลดความซับซ้อนของเรื่องต่างๆ ลง มันมีโอกาสง่ายมากที่เราจะอธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการหรือวิธีคิดที่ง่ายๆ แล้วพอมันง่ายแล้ว เราก็พร้อมจะกระโจนเข้าไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งในสถานการณ์นั้นๆ โดยมองไม่เห็นความซับซ้อน ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีเรื่องไหนในโลกนี้ที่ง่าย ทุกเรื่องยากและซับซ้อนหมด ความยากของสื่อคือ ทำอย่างไรถึงจะอธิบายเรื่องซับซ้อนให้มันง่ายแต่ไม่ทิ้งความซับซ้อน” คุณโตมร ศุขปรีชา

07

 “เราไม่เชื่อว่าจะมีแต่คนในคณะนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์เท่านั้น ที่สามารถนำเสนอความคิดผ่านสื่อภาพยนตร์ได้ พอเราเปิดขึ้นมา คนที่เข้ามาร่วมมีทั้งจากคณะสถาปัตย์ วิศวะ สังคมศาสตร์ หลากหลายมาก มันก็เลยมีมุมมองที่หลากหลายที่เล่าเรื่องด้วยภาพยนตร์ออกมา” คุณสุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘รักจัดหนัก’

“เราต้องข้ามพ้นว่าการทำสื่อเพื่อสังคมเป็นงานอาสา เป็นเรื่องของจิตใจดี แต่มองให้เป็นธุรกิจหรืออาชีพหนึ่งที่จะเติบโตและแข่งขันทางธุรกิจได้ คือทำงานเพื่อสังคมควบคู่ไปกับการหาเงินด้วย” คุณธวัชชัย แสงธรรมชัย ครีเอทีฟโฆษณาผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรู้สู้! Flood

“ผมมองว่าเราทุกคนเป็นสื่ออยู่แล้ว เรามีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงโลก แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เราลองมองคนรอบข้างสิว่าวันนี้เราฏิบัติต่อคุณพ่อ คุณแม่ เพื่อนร่วมชั้น อย่างไร หากเราปฏิบัติกับเขาดี เราก็เปลี่ยนโลกเขาทั้งใบนะ สิ่งเล็กๆ เหล่านี้มันเปลี่ยนโลกอยู่แล้ว ทุกคนเกิดมาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราทำหรือเปล่า” คุณอารันดร์ อาชาพิลาส ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสาร B Magazine

“โลกทุกวันนี้ความคิดสร้างสรรค์ (Idea) และวิสัยทัศน์ (Vision) สำคัญกว่าความรู้ เพราะเรามีคนเขียนโปรแกรมและคนทำกราฟิกเยอะแล้ว แต่คนที่คิดว่าจะทำอะไรดีนั้นขาดแคลนมาก สตีฟ จอบส์ เขียนโปรแกรมไม่เป็นนะ แต่เขามีวิสัยทัศน์และขายเป็น” คุณอารันดร์ อาชาพิลาส

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.