PA300039-crop
กิจกรรมเจริญจิตภาวนา,  ชุมชนกัลยาณมิตร,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

สนทนาธรรมกับ อ.ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง

PA300039-cropเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนมัธยม โรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมสนทนาธรรมกับ  อ.ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง ในหัวข้อ “งานยุ่งทั้งวัน จะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร” ในโครงการ “ฟังธรรมตามกาล เป็นมงคลแก่ชีวิต” ครั้งที่ ๑ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ นำสาระสำคัญมาบอกเล่าแบ่งปันกันค่ะ

ธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัว ครั้นจะบอกว่าธรรมะเป็นเรื่องใกล้ตัวก็ยังไม่ถูกต้องนัก ต้องบอกว่าธรรมะเป็นเรื่องในตัว เป็นเรื่องในกาย ในใจ ธรรมะเป็นเรื่องชีวิต การเรียนรู้ธรรมะเป็นการเรียนรู้ชีวิต

พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ว่า ธรรมะ ๒ ประการที่เราต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ได้แก่
๑.การเจริญสมถะภาวนา
๒.การเจริญวิปัสสนาภาวนา

การเจริญสมถะภาวนา เพื่อให้จิตได้รับความสงบ

  • คือการมีจิตจดจ้องจดจ่อ หรือน้อมจิตไปรู้ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง ผลคือจิตสงบ เช่น เพ่งรู้อยู่ที่ลมหายใจอย่างใจ หรือเพ่งรู้อยู่ที่ท้องพองยุบอย่างเดียว หรือเพ่งอยู่ที่เท้ากระทบพื้นอย่างเดียว หรืออยู่ในบทบริกรรมใดอย่างเดียว เช่น พุทธโท สำคัญคือสิ่งที่ไประลึกรู้ต้องเป็นกุศล จิตถึงจะรวมเป็นหนึ่งแล้วเกิดความสงบของจิตได้
  • อานิสงส์แห่งการเจริญสมถะภาวนา คือ จิตได้พักผ่อน จิตมีกำลัง จิตนิ่ง จิตตั้งมั่นอยู่ได้นาน จิตได้ความสงบ สมถะสูงสุดทำให้จิตสงบแต่ไม่พ้นทุกข์ แต่สมถะเป็นสิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุนให้วิปัสสนาดำเนินต่อไป และเกิดการพ้นทุกข์ได้

การเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อให้เกิดปัญญาพาให้พ้นทุกข์

  • คือการมีสติระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม หรือมีสติระลึกรู้ที่กายกับใจ สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้สึกตัว ฉะนั้นสติสัมปชัญญะจึงเป็นเครื่องมือหรือหัวใจการปฏิบัติ โดยให้ระลึกรู้ขณะปัจจุบัน เมื่อรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว อย่าหลงยินดี อย่าหลงยินร้ายกับสิ่งนั้น เพราะสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น จะดีหรือร้ายก็ตาม ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เพราะมันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
  • การเจริญวิปัสสนาภาวนาต้องรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นของกายหรือใจ ณ ปัจจุบันขณะ แล้วเห็นสภาวธรรมนั้นแสดงไตรลักษณ์
  • การฝึกสติให้รู้กายในชีวิตประจำวัน คือ การดูกายนิ่ง หรือกายเคลื่อนไหว ขณะยืน เดิน นั่ง นอน (อิริยาบถ ๔)
  • การฝึกสติให้รู้ใจในชีวิตประจำวัน คือ การไปรู้อาการเผลอของจิต ถ้าสังเกตทันรู้ใจที่เผลอ สติเกิดแล้ว หรืออาจจะไปรู้อาการกระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะกระเทือนถึงใจ แล้วสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดทางใจว่า พอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ

การเจริญวิปัสสนาภาวนาต้องอาศัยความเพียร เพียงชั่วเสี้ยววินาที่เล็กๆ ที่รู้สึกตัว กิเลส โลภ โกรธ หลง จะเข้าครอบงำจิตไม่ได้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.