บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

แล่นเรือกางใบ ฝ่าคลื่นลมในใจตน

ในช่วงปิดภาคเรียน วันที่ ๑๒-๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ครูอนุบาลพาตัวเองก้าวออกจากรั้วอนุบาลไปเผชิญคลื่นลมในท้องทะเลกับกิจกรรมค่ายเรือใบ ณ สโมสรเรือใบกองยุทธการ อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ที่ผ่านมาโรงเรียนรุ่งอรุณได้ใช้เรือใบเป็นสื่อพัฒนานักเรียนและครูมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ จนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นในคุณค่าของ “กีฬาเรือใบ” ที่มากไปกว่าฝึกความแข็งแรงของกาย หากเป็นความแข็งแกร่งในใจผู้เล่น จากการค้นพบความกลัวในใจตน และเรียนรู้ที่จะก้าวพ้นภาวะความกลัวดังกล่าว เพื่อนำพาเรือใบของตนเองแล่นไปข้างหน้าท่ามกลางคลื่นลมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำได้เพียงรับรู้ความเป็นจริง ณ ขณะนั้นๆ แล้วใช้ “สติสัมปชัญญะ” นำพาให้แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นการรับรู้ถึงศักยภาพภายในที่ทุกคนมีจากการเผชิญสถานการณ์ใหม่ เปิดใจที่จะเรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างเป็นปกติ และมีสติ แล้วสามารถนำมาใช้ในชีวิตประวันของตนเองต่อไป

“ตอนสภาพอากาศดี เราเล่นอย่างมีความสุข คิดว่าตัวเองพอทำได้ แต่ในวันเดียวกัน ห่างไปไม่กี่ชั่วโมง สภาพอากาศเลวร้าย คลื่นแรง ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เราควบคุมไม่ได้ เราเล่นไม่ได้ และเราก็รู้สึกแย่กับมัน โทษทุกอย่างที่อยู่รอบตัว โทษอากาศ โทษครู แต่ความจริงเป็นเพราะเราไม่มีสติเมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเราต้องยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนเดิม แต่เราจะไม่ยอมแพ้กับมัน ทำยังไม่ได้ในตอนนั้นก็ต้องทำใหม่ ความรู้สึกทั้งด้านดีและไม่ดี เมื่อมันเกิดขึ้น สุดท้ายมันก็หายไป และเดี๋ยวก็เกิดขึ้นใหม่เหมือนกัน”-  ครูมะปราง

“สิ่งที่ได้จากตัวเองคือความกล้าที่จะเผชิญกับความกลัวในใจของตัวเอง ถึงแม้ว่าความกลัวนั้นมันจะยังไม่หายก็ตาม ไม่ต้องไปคาดหวังว่ามันจะหายกลัวคลื่น มันจะไม่หายไปเลยทันทีหรอก…สิ่งที่จะนำไปใช้กับเด็ก คือ การให้เด็กค่อยๆ เผชิญสิ่งใหม่ด้วยตนเอง ให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้กับตัวเองทีละน้อยๆ ตามความพร้อมของตัวเด็ก ไม่ไปเร่งรีบ หรือกดดันให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้เหมือนกัน” – ครูกรีน

“เราพูดเสมอว่าเรามีหัวใจของความเป็นครู พอเราไปเล่นเรือใบ เราเจอครูที่ทั้งดุ ทั้งใจดี ทั้งช่วยเหลือ และให้กำลังใจด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าครูอนุบาลเราก็เป็นแบบนี้ แต่พอคนอื่นทำให้เรา มันคือการได้รับ มันเข้าไปในหัวใจ เรารู้สึกว่าเราก็เป็นแบบนี้และเราจะเป็นต่อไป เวลาเราหมวกตก ครูเก็บให้ จะใส่ไหม ใส่ได้ไหม ไม่ได้เดี๋ยวช่วย ตกน้ำ จะทำยังไง ไหวไหม ถ้าไหวว่ายมาตรงนี้ ถ้าไม่ไหวเอาไอ้นี่ไปแล้วดึงนะ เวลาที่เรารู้สึกว่ามันยากจัง ลมก็แรง เรือบังคับไม่ได้เลย ครูก็มองและบอกว่า มา ช่วยกัน เดี๋ยวครูช่วย ครูอยู่กับเราตลอด ทำให้เรานึกถึงคำที่อาจารย์ประภาภัทรและครูโมพูดเสมอที่ว่า “อยู่ที่นี่ตรงนี้กับลูกศิษย์ พร้อมเผชิญด้วยกันทุกเรื่องราว” เราเห็นภาพจริงๆ” – ครูแอร์

“เรารู้สึกครั้งนี้เราได้เรียนรู้ความกลัวและการก้าวข้ามความกลัวไปได้ การลงมือทำอะไรด้วยตัวเองทำให้เราเข้าใจได้มากกว่าการเห็น การได้ยินและฟังอย่างเดียว เราจะนำการเรียนรู้ที่เราได้มีโอกาสลงมือทำด้วยตนเองไปให้กับเด็กๆ เราเห็นจากเรือใบเลยที่เกิดจากที่ครูเปิดโอกาสให้เราได้ลองทำด้วยตัวเราเอง และจะเกิดอะไรขึ้นครูก็ไม่เคยว่าตำหนิเลย ครูเป็นผู้ให้กำลังใจและคอยช่วยเมื่อเราต้องการเสมอ” – ครูเจียม

“เราเริ่มมองเห็นข้อติดขัดที่เราเห็นเป็นภาพนัวๆ มานาน เราคิดมาเสมอว่า การที่เราอ้วนมันไม่ได้เป็นปัญหากับชีวิตของเรามากนัก มีบ้างแค่อยากใส่เสื้อผ้าบางตัว แต่ใส่ไม่ได้ หรือเวลาไปออกกำลังกายที่ต้องใช้ความแข็งแรงมากๆ ก็จะทำได้ไม่ดีนัก แต่คราวนี้เราเห็นเลยว่า ร่างกายเราอ่อนแอ เราไม่ได้ใช้ร่างกายอย่างเต็มประสิทธิภาพที่มันควรจะเป็น จริงๆ แล้วร่างกายเรา (ถ้าเราใช้ร่างกายให้แข็งแรง) สามารถพาเราไปทำสิ่งมหัศจรรย์ได้มากมาย…ใจสู้แค่ไหน ถ้ากายไปเอาด้วย เราก็ทำไม่ได้ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราตระหนักตอนนี้คือเรื่อง “กาย” เราอยากแข็งแรง เราอยากเป็นที่พึ่งให้ตัวเอง และถ้าแข็งแรงมากพอ เราก็จะเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ด้วย เราเพิ่งเข้าใจคำว่า “กายกับใจสัมพันธ์กัน” จริงๆ ก็ตอนนี้” – ครูเฟิร์น

* ขอบคุณภาพจากฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันอาศรมศิลป์