บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนกินอยู่เป็น

การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนกินอยู่เป็น
กินเปลือง ไม่ใช่กินเป็น
กินอย่างมีปัญญา เรียกว่ากินเป็น
…ต้องให้ได้คุณค่าที่แท้จริงเป็นฐานไว้ก่อน
…อย่าให้เบียดเบียนตน
…อย่าให้เบียดเบียนผู้อื่น
…อย่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก
ไม่ใช่ว่ากินก็เปลือง ขยะก็เปรอะ

– สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
จากหนังสือ “การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนกินอยู่เป็น ฉบับ ๒ พากย์”

กินอย่างมีปัญญา
ทำไมนักเรียนรุ่งอรุณทำอาหารกลางวันเอง?
การทำอาหารรับประทานเองเป็นแบบฝึกทักษะชีวิตเพื่อเติบโตไปเป็นคนที่พึ่งพาตนเองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองในชีวิตประจำวันได้ เพราะการทำอาหารกินเองได้นั้นเป็นทักษะขั้นพื้นฐานอันจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนต้องทำได้

  • อนุบาล ฝึกทักษะการล้าง หยิบ ส่ง ปอก หั่น แบบง่ายๆ รู้จักใช้อุปกรณ์ครัว วัตถุดิบที่นำมาใช้รู้วิธีปรุงอาหารแบบง่ายๆ เป็นลูกมือคอยช่วยคุณครู คล้ายช่วยงานแม่ที่บ้าน
  • ประถม เรียนรู้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นขั้นตอน ช่วยกันคิดรายการอาหาร รู้จักเลือกซื้อวัตถุดิบที่สดใหม่ มีประโยชน์ ใช้อุปกรณ์ครัวด้วยความระมัดระวัง เรียนรู้หัวใจของการบริการ ตักอาหารให้เพื่อนอย่างพอเหมาะพอดี
  • มัธยม ได้รับการจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันเป็นรายสัปดาห์ ครูและนักเรียนช่วยกันบริหารจัดการกันภายในห้อง เรียนรู้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นลำดับขั้นตอนภายในเวลาอันจำกัด เรียนรู้ว่าสิ่งที่เรากิน-ใช้มีที่มาที่ไปอย่างไร  เราเบียดเบียนใครอยู่หรือไม่ เป็นวิถีการบริโภคที่พอเพียง ไม่เป็นภาระกับโลกใบนี้เพิ่มขึ้น

อยู่อย่างมีปัญญา
โครงการชุมชนรุ่งอรุณชุมชนหัวใจไม่พลาสติก ความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งชุมชน สร้างวิถี “ลด ละ เลิก” การใช้พลาสติก

  • นักเรียน ครู ผู้ปกครอง พกพาบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวที่จำเป็นซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น ถุงผ้า ตะกร้า กล่องใส่อาหาร ช้อนส้อม ปิ่นโต กระบอกน้ำ แก้วน้ำ
  • ร้านค้า ตลาด ยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกใช้ครั้งเดียว
    …ใช้วิธีตักขาย ผู้ซื้อนำภาชนะมาเอง
    …ใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น กระทงใบตอง
    …ใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ได้อีก เช่น ปิ่นโต กล่อง โถใส่อาหาร

เริ่มต้นที่ตนเอง ปรับใจ เปลี่ยนความเคยชิน ปลูกจิตสำนึกใหม่ สร้างทางเลือกใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

ตลาดรับอรุณ
ตลาดแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เกษตรกร ตลอดจนผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายจับมือ ร่วมใจ “ลด ละ เลิก” ใช้พลาสติก

พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการ “กินอยู่เป็น” รู้จักเลือกกินของดีมีประโยชน์ ปลอดภัย ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี รู้จักอยู่ รู้จักใช้ อย่างไม่เบียดเบียนตัวเราและธรรมชาติแวดล้อม เป็นวิถีแห่งการ “กินอยู่อย่างมีปัญญา”