บันทึกรุ่งอรุณ,  ผลงานนักเรียน,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

โครงงานศึกษาภูมิปัญญาและคุณค่าชาวปกาเกอะญอ

IMG_7892“ไม่น่าเชื่อว่านี่คือผลงานของนักเรียนชั้น ม.๔”
“นำเสนอได้ดี มีการวิเคราะห์ จัดหมวดหมู่เป็นหัวข้อชัดเจน”
“นักเรียนเก่งมาก หัวข้อปัญหาที่ทำใหญ่มาก เหมือนไม่ใช่งานนักเรียนมัธยม ขอชื่นชม”

เสียงสะท้อนของนายอำเภอ ผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภอสะเมิง และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่มาร่วมงานฟังการนำเสนอการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ม.๔ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม ในงานบุญข้าวใหม่ พิธีส่งนกขวัญข้าว เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๙ ณ บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงงาน “ศึกษาภูมิปัญญาบนฐานการพึ่งพิงทรัพยากรป่าและน้ำของชุมชนปกาเกอะญอ” กรณีศึกษาชุมชนบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงงาน ๑ ปีการศึกษาของนักเรียนกลุ่มนี้ทั้ง ๒๖ คน ที่ออกภาคสนามเรียนรู้และเก็บข้อมูล ณ บ้านสบลาน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๑-๒ แล้วนำข้อมูลความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ เรียบเรียง แล้วจัดทำเป็นร่างรายงาน HIA (Health Impact Assessment) “ปกาเกอะญอ ฉันคือคน” ที่บอกเล่าถึงคุณค่าของชุมชนปกาเกอะญอผ่านภูมิปัญญาในการดูแลรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา

ปกาเกอะญอเป็นชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรป่าและน้ำอย่างชาญฉลาด แต่องค์ความรู้เหล่านี้ฝังกลืนอยู่ในเนื้อในตัวชาวบ้าน บวกกับข้อจำกัดด้านภาษาและการสื่อสาร ทำให้พวกเขาไม่สามารถบอกเล่าคุณค่าของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างชัดเจน และบ่อยครั้งที่ชุมชนถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ทำลายป่า ร่างรายงาน HIA ที่นักเรียนช่วยกันจัดทำขึ้นนี้จึงเป็นเอกสารสำคัญที่ชุมชนบ้านสบลานจะใช้บอกเล่าคุณค่าของตน และใช้ประกอบการขอประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งจะมีผลคุ้มครองชุมชนจากโครงการและการพัฒนาต่างๆ

วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๙ ชาวบ้านสบลานได้จัดงาน “เอาะบือหนี่ซอโข่ เซอถ่อเก โถ่บีฆก่า งานบุญข้าวใหม่ พิธีส่งนกขวัญข้าว” เพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน สร้างสำนึกคุ้มครองสิ่งดีงาม และรักษาวิถีวัฒนธรรมคนอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุล ยั่งยืน ทางชุมชนจึงถือเป็นโอกาสอันดี เชิญเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน เจ้าหน้าที่และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ อาทิ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายอำเภอสะเมิง ตัวแทนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัวแทนเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภอสะเมิง ฯลฯ มารู้จักและทำความเข้าใจชุมชน โดยนักเรียนรุ่งอรุณทั้ง ๒๖ คน ในฐานะบุคคลภายนอกที่มาศึกษาเรียนรู้ในชุมชนแห่งนี้ ร่วมเป็นตัวแทนชาวบ้านบอกเล่าถึงคุณค่าและภูมิปัญญาของชุมชนที่ควรค่าแก่การประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ

“หลายสิบปีที่ผ่านมาเราเห็นชัดเจนแล้วว่า กฎหมายดูแลป่าไม้ไม่ได้ เรามีกฎหมาย แต่ป่าไม้ค่อยๆ หายไป ต่างกับป่าของชาวปกาเกอะญอที่ยังอุดมสมบูรณ์ ถึงเวลาแล้วที่ต้องใช้วัฒนธรรมและประเพณีดูแลป่า เพราะวัฒนธรรมและประเพณีของชาปกาเกอะญอคือการจัดการ ทั้งการจัดการป่า น้ำ ดิน การจัดการชุมชน และการจัดการสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นวิถีที่ทำให้ป่า ดิน และน้ำยังคงอยู่” พะตี่ชัยประเสริฐ โพคะ พ่อหลวงบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนปกาเกอะญอแห่งแรกที่ประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง