บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

The Way Out Is In – การกลับเข้าสู่ภายในคือทางออก

ในงานทำบุญเรือนเวฬุคาม หรือเรือนปั้นไม้ไผ่ของโรงเรียนรุ่งอรุณ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา คุณครูศิลปะได้นิมนต์หลวงพี่โก๋-พระจิตร์ จิตฺตสวโร จากวัดป่าธรรมอุทยาน จ.ขอนแก่น  มาแสดงปาฐกถาธรรมแก่ครูผู้ปกครอง และนักเรียน ที่มาร่วมงานทำบุญ ในหัวข้อ “The Way Out Is In – การกลับเข้าสู่ภายในคือทางออก” ให้พวกเราชาวชุมชนรุ่งอรุณได้ใช้โอกาสอันเป็นมงคลนี้กลับมาเรียนรู้กายของเรา เรียนรู้ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ขอนำบางช่วงบางตอนของปาฐกถาธรรมในวันนั้นมาแบ่งปันสู่กันค่ะ

“วันนี้หลวงพี่มาทำกตัญญู ประเด็นการมาเล่าในครั้งนี้ หัวข้อคือ “ทางออกคือการกลับเข้าสู่ภายใน” มันเป็นคำที่ย้อนแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นภาษาอังกฤษ The Way Out Is In ปกติแล้วเราพบว่าทางออกต้องออกไปข้างนอกสิ แต่วันนี้หลวงพี่ไม่ได้พูดเอง หลวงพี่เอาคำของครูบาอาจารย์มาเล่าต่อให้ฟัง คือ ทางออกคือการกลับเข้าสู่ข้างใน”

“ทำไมหลวงพี่ถึงเรียกว่ามาทำกตัญญู ทำไมพื้นที่โรงปั้น โรงทอ โรงไม้ โรงศิลปะ โรงเพนท์ ถึงมีบุญคุณกับชีวิตหลวงพี่นัก จริงๆ แล้วหลวงพี่จบอย่างอื่น แล้วก็ทำงานอย่างอื่น เหล่านี้ไม่ได้ช่วยหลวงพี่ในทางประกอบวิชาชีพ ไม่ได้สร้างชื่อเสียง แต่ทำไมถึงสำคัญนัก เพราะว่าครูทำให้เราพบเพื่อน แล้วเป็นเพื่อนสำคัญซะด้วยสิ หลวงพี่ไม่แน่ใจว่าผู้ปกครองหรือเด็กๆ วันนี้มีโอกาสสัมผัสงานศิลปะบ้างไหม มีประสบการณ์กับงานทอ งานปั้น งานเพนท์ งานปัก งานอะไรก็ตามที่เราทำด้วยมือ สำหรับหลวงพี่ นี่เป็นเพื่อนที่ดีมาก”

“ทำไมถึงเรียกว่าเป็นเพื่อนที่ดีมาก ไม่ใช่เพื่อนในมิติที่ฆ่าเวลาเท่านั้นนะ แต่เป็นเพื่อนที่ทำให้รู้จักสิ่งที่อยู่ข้างใน เพราะสำหรับหลวงพี่ เพื่อนที่ดีคือเพื่อนที่ยินดีรับฟังเรา คือเพื่อนที่รู้จักเราจริงๆ เพื่อนที่ไม่ด่วนตัดสินเรา คือเพื่อนที่อดทนได้เวลาที่เราไม่ปกติ ช่วยยับยั้งชั่งใจเวลาเราจะทำอะไรไม่ดี ก็ อย่าเพิ่งนะ แล้วเขาก็จะพยายามเข็นเราเวลาเราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์ เอ้า เอาสักนิดเอาสักหน่อย ของที่หลวงพี่กำลังหาจริงๆ ไม่ใช่งานศิลปะ แต่หลวงพี่กำลังหาเพื่อนคนนั้น เพื่อนคนที่รับฟังเราอยู่เสมอ รู้จักเราจริงๆ ไม่ด่วนตัดสินเรา ไม่ป้อยอเรา ในการที่เราจะทำอะไรไม่ดี เพื่อนคนนี้คอยยับยั้งชั่งใจเราอยู่ แล้วก็เพื่อนคนนี้อีกเหมือนกัน เวลาที่เราอยากจะทำอะไรแล้วเรารู้สึกล้า เพื่อนคนนี้จะบอกเรา เพื่อนคนที่บอกเราว่าเราอย่าเพิ่งโกรธ เพื่อนคนที่บอกเราว่าเสียใจไปก็ไม่มีประโยชน์ แล้วทุกคนรู้ใช่ไหม ว่ามีตังค์เท่าไรก็ไปซื้อหาเพื่อนคนนี้จากห้างสรรพสินค้าไม่เจอ เพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง

“คนที่เคยมีประสบการณ์กับการปั้นดินมาบ้าง เราจะรู้เลยว่า เขาไม่ตามใจเรา เขาเป็นของเขาเองอย่างนั้น เราต้องทำความรู้จักเขา เพราะฉะนั้นกระบวนการทำงาน เราจะพบกับความเซ็ง ความไม่ได้ดั่งใจ ตอนนั้นหลวงพี่ทำงานปั้นเป็นงานที่สองต่อจากงานทอ หรือเรากลับไปทอดีนะ ไม่ใช่ว่างานทอจะทอได้นะ ตอนทอใหม่ๆ เราก็มีไม้โทอยู่เหมือนกัน ท้ออยู่เหมือนกัน เขาทำให้เรารู้ว่า อ๋อ ตัวท้อ ตัวอยากจะเอาชนะ ตัวเห็นแก่ความสำเร็จง่ายๆ ตัวอะไรมีอยู่ข้างในเต็มไปหมด ตอนนั้นถ้าเราตามใจตัวเราเอง เราก็จะทำอย่างหยิบโหย่ง แล้วเราก็ขอไปที แล้วทุกอย่างก็จบกันไป โดยเฉพาะกับคนที่เคยถือว่าเก่งในบางสายงาน พอเราเข้ามาเริ่มต้นใหม่ เราจะทนกับความไม่ได้การของเราไม่ได้ ตรงนี้ล่ะที่หลวงพี่ชอบ”

“ครูเป็นครูที่แนะนำเพื่อนที่ชื่อว่างานทองานปั้น ให้กับเรา แล้วงานปั้นงานทอทำให้เรารู้ว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนเก่งไปซะทุกอย่าง ถ้าเราด่วนตัดสินตัวเองทุกๆ ครั้งที่เราปั้น เราจะชอกช้ำใจ แต่ถ้าเรายอมรับในความเป็นผู้ใหม่ อยู่กับตนเองได้ มีเสียงท้อถอย มีเสียงเบื่อหน่าย นวดไปถึงไหนครูถึงจะให้ปั้น แล้วครูก็ไม่ค่อยบอกนะว่านวดไปถึงไหน เพราะว่าครูอยากจะให้เราเจอสิ่งเหล่านี้ พอเจอไปปุ๊บเราก็อยู่ เธอมีสิทธิป้อนลูกท้อ ฉันก็มีสิทธินวด เพราะฉะนั้นจิตปรุงแต่งของเราต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ก็มีอยู่ตรงนี้ตลอดเวลา แต่งานต่างๆ ที่เป็นงานศิลปะ ทำให้เราต้องนั่งอยู่กับเขา เรากำลังเผชิญหน้ากับมัน สำหรับหลวงพี่ ศิลปะใครจะชอบงานเรา ไม่ชอบงานเรา ไม่สำคัญเท่ากับเราอยู่กับใจเราขณะทำงานได้ไหม

“กว่าจะเป็นขึ้นมาสักถ้วยหนึ่ง จะเป็นสักจานหนึ่ง กว่าจะเป็นผ้าสักผืนหนึ่ง หลวงพี่มีลูกท้อเป็นกระจาด แต่นั่นเอง เรามาเพื่อรู้จักสิ่งนี้ ในชีวิตเราเจอกับความท้อถอย เจอกับการปฏิเสธ ถอยออกไปทำโน่นดีกว่า ไม่ทนแล้ว ในชีวิตเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไม่เป็น แล้วเราก็ถอดออก แล้วเราก็เบื่อ แล้วเราก็ถอยออก แล้วเราก็หาสิ่งใหม่ คนที่เปลี่ยนงาน เปลี่ยนคู่ครอง เปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ ต้องหาสภาพใหม่ๆ เพราะเราอยู่กับสิ่งที่มีอยู่ไม่ถูก เราไม่รู้จะอยู่อย่างไร เราไม่รู้จะวางทีท่าอย่างไรกับความรู้สึกนี้”

“เรามีตัวท้ออยู่ แต่เราก็มีตัวองอาจอยู่ในนั้น เรามีตัวเบื่อหน่าย แต่เราก็มีตัวเบิกบาน เรามีความคาดหวัง แล้วเราก็มีความสมหวัง มีความผิดหวัง ทุกอย่างอยู่ในงานศิลปะ งานศิลปะในที่นี้ของหลวงพี่ ถ้วย แทบไม่เคยสนใจจะเอากลับบ้าน จาน แทบไม่เคยสนใจจะเอากลับบ้านเลย เพราะสิ่งที่หลวงพี่ได้แล้ว และมีอยู่ในนี้แล้ว คือเพื่อนคนหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักตัวเอง ให้เรารู้ว่าเราจะอยู่กับตัวเองอย่างไร ตั้งแต่เกิดยันตาย ตั้งแต่วันนี้ยันวันตาย เราต้องประสบกับสิ่งไม่พอใจมากแค่ไหน เราจะผลักไสไปถึงไหน เราจะผลักไสอย่างไร โดยการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายนอก เปลี่ยนวิชาเรียน ขอครูเปลี่ยนสี เปลี่ยนประเภทดิน ขอครูเปลี่ยนจากงานเล็กเป็นงานใหญ่ ครูบอกถ้วย เราเจรจาขอเป็นจาน ครูบอกมีหู ไม่มีหูได้ไหม เราต้องต่อรองจนถึงขนาดไหน”

ในโลกที่เราลองไม่ต่อรอง จะลองทำดู ลองใส่ใจดู ท้อแต่เราไม่ถอยได้ไหม รู้ว่าความท้ออยู่ตรงนั้น เราก้าวข้ามได้ไหม ท้อเราก็ปั้น ปั่นป่วนเราก็ปั้น เบื่อเราก็ปั้น เหนื่อยเราก็กด นั่นหมายความว่า อาการของใจไม่สามารถผลักเราออกจากความตั้งใจของเราได้ ตรงนี้เอง หลวงพี่รู้สึกว่ามีบุญคุณมาก เพราะงานศิลปะทำให้เราก้าวข้ามผ่านอุปนิสัยที่อาจจะเกิดมาพร้อมกับเรา แต่เราไม่อยากตายพร้อมกับมัน หลวงพี่ไม่อยากตายพร้อมกับความท้อ”

“ทำไมครูไม่เริ่มจากอะไรง่ายๆ ก่อน ทำไมครูไม่สอนให้ทำอย่างนี้ ทำไมครูถึงยื่นมา ๕ ก้อน แล้วบอกปั้นให้กลม แล้วครูก็ไม่สอนอะไรมาก ครูบอกปั้นไปเรื่อยๆ ๕ ก้อน แล้วทำความเข้าใจตัวเอง ก้อนแรกเราจะทะนงมาก โตมาขนาดนี้ทำไมเราจะปั้นกลมไม่ได้ แล้วเราก็ปั้นไป ความอยากจะให้มันกลม มันจะไม่กลม คือมันไม่กลมขนาดใจเรา ใจเราอยากให้มันกลมมากๆ เรารู้สึกว่าเราจะต้องทำให้ครูประทับใจ เราทำให้ดินมันกลมได้ เจ้าความอยาก ความเชื่อมั่นในตัวเองที่มากเกินไป สิ่งเหล่านี้เองที่เราได้เรียนรู้”

“เราอยากจะอ้อยสร้อยกับก้อนที่สองมากๆ ปรากฏว่าก้อนที่ห้าเริ่มแห้ง เพราะเราหยิบออกมาวางทิ้งก็เสียความชื้น เพราะดินน้ำลมไฟไม่ตามใจเรา เขามีธรรมชาติของเขา ไม่เฉพาะแต่ดินน้ำลมไฟที่ไม่ตามใจเรา มนุษย์ทั้งหลายไม่มีใครตามใจเราหรอก เขาอาจจะไว้หน้าเราบ้างเล็กๆ น้อยๆ เวลาที่เราอยู่กับของที่ไม่มีชีวิตเป็น เราอยู่กับธรรมชาติเป็น เราจะพบว่า เขาไม่มีจิตใจเลยนะ เขาว่าเราก็ไม่ได้ เถียงเราก็ไม่ได้ เขาไม่เคยดูถูกเราด้วยนะ เขาไม่เคยชื่นชมเรา ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระหว่างเรากับเรา เรากำลังทะเลาะกับฝ้าย เรากำลังทะเลาะกับด้าย เราบ้าไปเอง เราเริ่มรู้สึกได้ ทำไมดินด้ายฝ้ายทำเราปั่นป่วนได้ขนาดนี้”

“เรื่องของเรื่องคือยิ่งพยายามก็ยิ่งหนัก ยิ่งจะเอาชนะก็ยิ่งแพ้ เรื่องของเรื่องคืออะไร เราทำหน้าที่ของเรา… ทำไมหลวงพี่ถึงรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีบุญคุณ เพราะการอยู่กับสิ่งไม่มีชีวิตนั้นเรารู้ว่าความขุ่นเคืองทั้งหมด ความปกติ ไม่ปกติ ความสับส่าย เป็นเรื่องของเรา เราเริ่มไม่โทษคนอื่นแล้ว เราเริ่มไม่โทษครู โทษด้าย เราไม่โทษดินแล้ว เรากลับมาดูความอยากของตัวเราเอง เราอยากชนะ เราอยากเก่ง เราอยากไว เราอยากได้ดั่งใจ”

“ทีนี้จะทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์ มี ๒ อย่างให้เลือก อยากและทุกข์ กับ ต้องวางแล้วพอทำต่อไป หลวงพี่เลือกวางแล้วพอทำต่อได้”

“งานศิลปะเป็นครูสอบอารมณ์ที่ดีมากๆ งานศิลปะเราทำไปบางทีไม่ได้ดั่งใจ เราอาจจะต้องฝึกหรือมีความชำนิชำนาญอะไรมาก่อน เราอาจจะเคยนวดแป้ง พอมานวดดินเราพอทำได้ เพราะฉะนั้นทุกๆ อย่างต้องการการฝึกฝนทั้งนั้น เราเคยนั่งสมาธิแล้วไม่ได้ดั่งใจไหม เดินจงกรมแล้วยังฟุ้งซ่าน อยู่กับอะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ วิถีเดียวกัน ฉะนั้นการฝึกไปเรื่อยๆ ถ้าเราก้าวข้ามความยากลำบาก ก้าวข้ามความท้อ สำหรับหลวงพี่แล้ว การปั้นยากแค่ไม่กี่ก้อนแรกเท่านั้น การทอก็เหมือนกัน ยากแค่คืบแรกเท่านั้น หลังจากนั้นไม่ยาก เวลาที่เราก้าวข้ามผ่านความท้อ การตัดสินตัวเอง เคยตัดสินตัวเองกันไหม เราไม่ดี เรายังดีไม่พอ ถ้าเรามีประเภทอย่างนี้ เราจะตัดสินคนอื่นด้วย”

“แล้วมันเจ๋งตอนไหนรู้ไหม มันเจ๋งตอนคนมาทำของเราแตก เมื่อไรก็ตามที่เรายึดถืออะไร  ไม่สวยแต่มันชิ้นแรกเชียวนะ ซึ่งจริงๆ แตกซะได้ก็ดี จะได้ไม่ต้องไปกังวล ซึ่งครูมอบให้หลวงพี่เป็นของขวัญ แล้วครูบอก แตกเมื่อไรเดี๋ยวครูปั้นให้ใหม่ ปรากฏกลับไม่แตก เพราะอะไร เราไม่กลัวแล้ว เราอยู่กับตรงนั้น เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่งเขาจะแตก แตกท่าไหนเมื่อไรก็ตาม ไม่กังวลถ้าเขาแตก”

“วันนี้เราใช้ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง เรารู้ไหมว่าชีวิตของเราแก้วใบนี้จะแตก เราใช้ชีวิตทำประโยชน์อยู่ไหม เราเข้าใจแก้วของเราไหม เราเข้าใจปัญหาที่เกิดกับแก้วเราไหม แก้วที่ชื่อว่าความกลัว ความโกรธ ความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความลังเล ความสับสน ความอยากได้อยากดีอยากเป็น เรารู้จักแก้วเราไหม อะไรที่ขับเคลื่อนให้แก้วใบนี้ เราทราบใช่ไหมว่าแก้วใบนี้จะต้องแตก”

“หลวงพี่เลือกมาบวช หลวงพี่แค่มาเรียนวิชาธรรมชาติของโลกภายใน มาทำความรู้จักจิตใจ เพื่อให้เราอยู่กับแก้วใบนี้เป็น แล้วในขณะเดียวกัน เราไม่หวงแก้วใบนี้จนเกินไป”

“ทุกๆ อย่างในชีวิตให้ถือเป็นงานศิลปะแห่งการรู้จักตัวเอง และการก้าวข้ามผ่านสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในตัว เขาอยู่กับเราเสมอ… เพราะฉะนั้น เปิดใจเรียนรู้ เรือนนี้เป็นเรือนศิลปะ เรามาเรียนศิลปะในการอยู่กับจิตปรุงแต่งของเรา ศิลปะในการที่เราจะเป็นอิสระจากความโลภ ความโกรธ ความหลง