บันทึกรุ่งอรุณ,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เรียนรู้วิถีปกาเกอะญอ ณ บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันที่สอง : ค้นหา แลกเปลี่ยน วิเคราะห์

หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านมาครึ่งวัน ในช่วงเย็นนักเรียนนัดหมายมาล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่แต่ละคนได้รู้มา บางคนใช้การสังเกต บางคนลองทำ และอีกหลายคนใช้การพูดคุยซักถาม  ขณะที่เพื่อนบอกเล่าข้อมูล นักเรียนคนอื่นๆ จะคอยฟังและจดบันทึกลงในสมุดภาคสนามของตนเอง หากใครมีข้อมูลในเรื่องเดียวกันก็จะช่วยเสริม โดยครูเปรมปรีติจะทำหน้าบันทึกประเด็นที่นักเรียนพูด สรุปเพื่อทบทวนกับนักเรียนอีกครั้ง แล้วให้โจทย์ของการเรียนรู้ในวันต่อไปว่า “ให้นักเรียนหาข้อมูลหรือชุดความรู้ในการอยู่กับป่าของชาวบ้านที่นี่ โดยเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ว่าแต่ละเรื่องที่นักเรียนรู้มานั้นมีชุดความรู้อะไรซ่อนอยู่”

วงสนทนาในช่วงเย็นวันที่สองจึงไม่ใช่เพียงการบอกเล่าข้อมูลความรู้เหมือนวันแรก แต่เป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ด้วยโจทย์ที่ว่า “ชุมชนบ้านสบลานมีคุณค่าอย่างไรในสายตาของนักเรียน เป็นชุมชนที่มีความสำคัญอย่างไรจึงไม่ควรสูญหายไปจากประเทศของเรา”

ตัวอย่างการวิเคราะห์ของนักเรียน
“ชาวบ้านที่นี่เคารพธรรมชาติ เห็นได้จากความเชื่อเรื่องการถือผีต่างๆ เช่น ผีป่า ผีน้ำ”
“ชาวบ้านที่นี่เคารพและดูแลรักษาป่า เห็นได้จากความเชื่อเรื่องขวัญ ที่เชื่อว่าคนเรามีขวัญ ๓๗ ขวัญ อยู่ที่ตัวเรา ๕ ขวัญ อีก ๓๒ ขวัญอยู่ในป่า ดังนั้นจึงต้องดูแลป่า เพราะถ้าทำลายป่าก็เท่ากับทำลายขวัญของตนเอง”

นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์คุณค่า “ชีวิตคนปกาเกอะญอพึ่งพิงป่าและน้ำตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะพึ่งพิงจึงต้องดูแล ดูแลโดยเคารพผ่านเรื่องผี เรื่องขวัญ ไม่ละเมิดผี ไม่ฆ่าขวัญ

“ชาวบ้านที่นี่ใช้ของอย่างคุ้มค่า เช่น เอาต้นอะไรมาก็ใช้ทุกส่วน ไม่มีส่วนไหนเหลือทิ้ง บางส่วนเป็นอาหารคน บางส่วนเป็นอาหารสัตว์ บางส่วนใช้เป็นปุ๋ย อย่างต้นคำแสด ผลใช้ต้มย้อมผ้า ก้านและใบเป็นสมุนไพร หรือเวลาหุงข้าว น้ำข้าวก็ใช้เป็นอาหารสุนัข”

นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์คุณค่า “คนปกาเกอะญอใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรู้คุณค่า

“ชาวบ้านที่นี่มีจิตใจที่ละเอียดอ่อน ไม่คิดถึงแต่ตัวเอง แต่ยังคิดถึงคนรอบข้าง คิดถึงธรรมชาติ เช่น สร้างบ้านด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เพราะเมื่อวันหนึ่งบ้านพังลง วัสดุเหล่านั้นก็จะกลับคืนสู่ธรรมชาติ”
“ชาวบ้านที่นี่ให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ ความสามัคคี โดยเห็นได้จากบททา (บทร้องเล่น) เช่น บททาที่มีเนื้อหาว่า วันหนึ่งฟ้าอาจถล่มลงมา แต่ถ้าชาวปกาเกอะญอรวมพลังกันก็จะสามารถต้านทานฟ้าที่จะถล่มลงมาได้ หรืออีกบททาหนึ่งที่บรรยายถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวปากเกอะญอที่ไปตักน้ำกินจากลำธารในป่าซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้มาเจอกัน พูดคุยสังสรรค์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน”

นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์คุณค่า “คนปกาเกอะญอมีวิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของคน และไม่ทำลายธรรมชาติ

“ชาวบ้านเปรียบหินสามก้อนหรือก้อนเส้าเตาไฟว่าคือพ่อ แม่ และยาย”
“ชาวบ้านจะใช้บริเวณเตาไฟทำพิธีไหว้ผีบ้าน แล้วจะไม่ทิ้งขี้เถ้าจากเตาไฟ เพราะเปรียบเสมือนบรรพบุรุษ”

“ชาวบ้านเคารพก้อนเส้าเสมือนเป็นบรรพบุรุษ เวลาจะทิ้งก้อนเส้า จึงนิยมทิ้งในแม่น้ำลำธรเพื่อให้ก้อนเส้าได้อยู่ในที่ที่เย็นสบาย”

นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์คุณค่า “ชุมชนนี้มีความนอบน้อมต่อทุกสรรพสิ่ง กตัญญูต่อทุกสิ่งที่มีคุณต่อเขา

“ชุมชนที่ที่ทำเพื่ออยู่ เป็นชุมชนที่ไม่โลภ”
“ชาวบ้านมีความพอเพียง ใส่ใจคนอื่น เช่น ทำนาแค่พออยู่พอกิน ไม่ทำเพื่อขาย เพราะถ้าทำเยอะ ต้องใช้น้ำเยอะ แล้วจะไม่เหลือน้ำให้คนข้างล่าง”

“ไม่ปั๊มน้ำมาใช้เพิ่มเพราะเกินจำเป็น”
“การทำประปาภูเขาเป็นภูมิปัญญาที่พอดี พอเหมาะกับชีวิตของชาวบ้าน”
นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์คุณค่า “ชุมชนนี้ไม่มีอะไรที่เกินจำเป็น ทำพอตัว อยู่อย่างพอเพียง แล้วยังเหลือเผื่อให้คนอื่น

คุณค่าทั้ง ๕ ข้อที่นักเรียนช่วยกันวิเคราะห์แล้วสะท้อนออกมา นำมาสู่ข้อสรุปร่วมกันว่า คุณค่าเหล่านี้ทำให้ชุมชนบ้านสบลานสามารถรักษาป่าไว้ได้ ดังนั้นชุมชนนี้ควรจะอยู่ที่นี่

Pages: 1 2 3 4 5