บันทึกรุ่งอรุณ,  ภาคสนาม,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

เรียนรู้วิถีปกาเกอะญอ ณ บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

วันที่สาม : ระบุความรู้สึกเพื่อเข้าถึงคุณค่าของความรู้

ในช่วงเช้านักเรียนแบ่งกลุ่มไปเดินป่าสำรวจธรรมชาติและช่วยชาวบ้านหยอดเมล็ดพันธุ์ข่าวที่ไร่ ก่อนจะกลับมาหาข้อมูลให้ครบถ้วนตามประเด็นหัวข้อที่แต่ละกลุ่มเลือกไว้ ได้แก่ ผังชุมชน / อาหารปกาเกอะญอ / การทอผ้าและเครื่องแต่งกาย / สมุนไพรและการดูแลสุขภาพ / ภูมิปัญญาการสร้างบ้านแบบดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ / นิทานและลำนำ (ทา) / วิถีการเลี้ยงสัตว์ / การดูแลรักษาป่า / การจัดการทรัพยากรน้ำ / ภูมิปัญญาไร่หมุนเวียน / ประวัติหมู่บ้าน (Timeline) / โรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า : การส่งต่อภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน

วงประชุมในช่วงค่ำ หลังจากนักเรียนนำเสนอข้อมูลความรู้ที่ได้มา ครูเปรมปรีติตั้งคำถามกับนักเรียนว่า “นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับข้อมูลหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้”

ตัวอย่างการระบุความรู้สึกของนักเรียน
นักเรียนกลุ่มที่ศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำแล้วพบว่า ชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อว่าน้ำไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่น้ำเป็นของทุกคน เมื่อใช้ร่วมกัน เราต้องร่วมกันดูแลรักษา ที่นี่จึงมีความเชื่อเกี่ยวกับน้ำ เช่น การไหว้ผีน้ำ การไม่ถ่ายหรือทิ้งของเสียลงน้ำ ซึ่งช่วยดูแลรักษาน้ำไว้ ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝายเพื่อผันน้ำเข้าทำนาโดยไม่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ การทำนำแต่พอดี พอกิน ทำให้มีน้ำเหลือเผื่อไปถึงคนข้างล่าง นักเรียนสะท้อนความรู้สึกต่อเรื่องราวเหล่านี้ว่า

“ประทับใจที่ชาวบ้านเรียนรู้จากธรรมชาติ”
“แปลกใจและรู้สึกยกย่องที่คนที่นี่นึกถึงคนอื่น มีจิตใจละเอียดอ่อน”
“ชอบในวิถีที่ไม่เบียดเบียนใคร เป็นวิถีที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ แล้วทำให้ธรรมชาติทั้งหมดดำเนินต่อไปได้”

นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกศึกษาเรื่องโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า โรงเรียนที่ชุมชนช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อส่งต่อภูมิปัญญาการพึ่งพิงและดูแลรักษาธรรมชาติของปกาเกอะญอสู่ลูกหลานรุ่นหลัง บอกความรู้สึกของพวกเขาว่า

“รู้สึกภูมิใจที่มีคนอย่างนี้คอยดูแลรักษาป่าอยู่”
“ดีใจที่ได้รู้ว่ามีชุมชนแบบนี้ที่กตัญญูต่อทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และดีใจที่ชุมชนนี้จะไม่หายไป จะยังมีน้องๆ สืบทอดต่อ”

ขณะที่กลุ่มที่ศึกษาเรื่องเครื่องแต่งกายและการทอผ้าพบว่า ชาวบ้านที่นี่ทอผ้าใช้เองในครัวเรือน และทอขายเป็นรายได้เสริม โดยย้อมสีธรรมชาติ จากลูกไม้ ใบไม้ และเปลือกไม้ จนได้สีสันหลากหลายสวยงาม นักเรียนแสดงความรู้สึกต่อเรื่องนี้ว่า

“รู้สึกทึ่งที่ชาวบ้านเก็บของจากธรรมชาติรอบตัวมาสร้างสีสร้างลายที่สวยงาม”
“โม (แม่) บอกว่าไม่ใช้สีเคมีย้อมผ้า ทั้งๆ ที่มีราคาถูกกว่าและสะดวกกว่า เพราะอยากให้คนที่ซื้อไปได้ใส่ของดีจริงๆ รู้สึกชื่นชมที่เขานึกถึงคนอื่น”

นักเรียนบางคนสงสัยว่า ทำไมเราต้องระบุความรู้สึกของตัวเอง ความรู้สึกบอกอะไร มีคุณค่าอย่างไร

“การเรียนรู้จริงๆ ของคนเราไม่ใช่ตัวความรู้ แต่คือความรู้สึกของเราต่อเรื่องนั้น เพราะความรู้สึกจะทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่รู้ ความรู้สึกคือต้นทางของสติปัญญาของเรา แต่การจะไปถึงความรู้สึกที่ต่อยอดทางปัญญา เราต้องก้าวข้ามความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ไปสู่ความรู้สึกอีกระดับหนึ่ง เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่คุณค่าและปัญญา” ครูเปรมปรีติตอบข้อสงสัยของนักเรียน

วันที่สี่ : จัดการความรู้สู่คุณค่าของเรื่องราว

ตลอดสามวันที่ผ่านมา นักเรียนเอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ด้วยการซักถาม เข้าไปทำ สังเกตการณ์ แล้วสะท้อนออกมาผ่านความรู้สึก ก่อนจะอธิบายเหตุผลด้วยข้อมูลความรู้ที่ได้มา ในวันที่สี่ของการเรียนรู้เป็นช่วงเวลาที่นักเรียนได้มาล้อมวงฟัง “พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ” ผู้นำหมู่บ้านบ้านสบลาน บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนและสอบถามในจุดที่สงสัย ทั้งในเรื่องประวัติความเป็นมา วิถี ภูมิปัญญา ความเชื่อ และปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ และโครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน เป็นการตรวจสอบความชัดเจน ความถูกต้อง และความครบถ้วนของข้อมูล ก่อนจะนำเสนอกับชุมชนในวันรุ่งขึ้น

Pages: 1 2 3 4 5